ประวัติความเป็นมา
ชุมชนโต๊ะบาหลิว หรือชุมชนชาวเลโบราณแห่งเกาะลันตา เป็นชุมชนขนาดเล็กของกลุ่มชาวไทยใหม่ หรือชาวเลเผ่าอูรักลาโว้ย แต่เดิมเมื่อประมาณปี พ.ศ.2444 มีชาวเลมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดังกล่าวประมาณ 3 – 4 หลังคาเรือน และค่อยๆ ขยับขยาย จนปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 35 หลังคาเรือน โดยคนส่วนใหญ่ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก
ที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้ มาจากชุมชนแห่งนี้มีการตั้ง “ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว” ไว้เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน คำว่า “โต๊ะ” หมายถึง ครูหมอ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ คนที่มีมีวิชาอาคม เมื่อตายไปจะมีการปั้นรูปเคารพไว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนนั่นเอง
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ได้พระราชทานชื่อเรียกชาวเลว่า ชาวไทยใหม่ และพระราชทานนามสกุล 5 นามสกุล ได้แก่ ประมงกิจ หาญทะเล ทะเลลึก ชาวน้ำ และช้างน้ำ โดยชาวเลที่ภูเก็ตจะใช้นามสกุล “ประมงกิจ” ส่วนชาวเลที่เกาะลันตามี 2 นามสกุล โดยชาวบ้านสังกะอู้จะใช้นามสกุล “ทะเลลึก” ส่วนชาวบ้านที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว ในไร่ และคลองดาว ใช้นามสกุล “ช้างน้ำ”
ชุมชนบ้านโต๊ะบาหลิว เป็นที่ตั้งของชาวเลอูรักลาโว้ย หรือที่ถูกเรียกว่า ยิปซีทะเล (Sea Gypsy) เป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะลันตาเมื่อกว่า 500 ปีที่ผ่านมา เป็นชุมชนที่รักสงบ เรียบง่าย มีอาชีพประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นกลุ่มแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เกาะลันตา มีประเพณี ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น ด้วยลักษณะบ้านเรือนที่เป็นไม้ ใต้ถุนสูง แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายทะเลที่น้ำทะเลท่วมถึง มีประเพณีลอยเรือ”ปลาจั๊ก”ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนทะเล