ประวัติชุมชนบ้านแม่แอบ
ชาวบ้านแม่แอบ ส่วนใหญ่เป็นคนจีนยูนนาน ที่อพยพเข้ามาเนื่องจากหนีภัยสงคราม ในปี พ.ศ. 2492 ขณะนั้นการเมืองภายในประเทศจีนเกิดการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลจีนขณะนั้น ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ค พรรคก๊กมินตั๋งและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง ทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังทหารเป็นของตนเอง และสู้รบกันเพื่อแย่งชิงประชาชน และอำนาจการปกครองจีนที่กว้างใหญ่
ฝ่ายเจียงไคเช็ค มีกำลังทหารส่วนหนึ่งที่เรียกว่า กองพลหน่วยที่ 93 ได้ปฏิบัติการอยู่แถบคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน ต่อมากองทัพฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงเป็นฝ่ายกำชัย ทำให้กองพลหน่วยที่ 93 ถูกตีถอยร่นจนมาถึงแนวชายแดนไทย
โดยทหารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยกองทัพไทยในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ซึ่งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายใช้เวลายืดเยื้อยาวนานราว 4 ปี (พ.ศ.2512 – 2516) เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นรัฐบาลไทยได้ให้กองกำลังจีนอพยพ (กองพล 93) จัดตั้งเป็นหมู่บ้านยุทธการ “หมู่บ้านแม่แอบ” ขึ้น ณ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทำให้ชาวบ้านแม่แอบในปัจจุบันมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากระหว่างการอพยพถอนร่นจากจีนเข้าพม่าจนมาถึงไทย ได้มีการกวาดต้อนผู้คนตามรายทางมากับกองทัพด้วย ทำให้บ้านแม่แอบมีประชาชนจาก 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ลัวะ ลาหู่ จีนยูนนาน อาข่า และไตใหญ่ แต่ที่สำคัญก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถึง 5 กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนเดียว แต่สามารถอยู่ร่วมกันและดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น